นโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เมื่อพิจารณาทั่ว ๆ ไปจะพบว่าในหน่วยงานหรือองค์การหลายแห่ง มิได้มีการกำหนดนโยบายเอาไว้ หรือบางแห่งอาจจะมีการกำหนดนโยบาย แต่ผู้ปฏิบัติงานไม่ทราบเพราะไม่ได้ประกาศให้ทราบโดยแน่ชัด นโยบายในลักษณะนี้มีลักษณะเป็นแนวความคิดของฝ่ายบริหารซึ่งอาจจะทราบกันเฉพาะหมู่ผู้บริหารหรือทราบเฉพาะผู้บริหารสูงสุด ของหน่วยงานเท่านั้น เมื่อวิเคราะห์สภาพที่เป็นจริงในหน่วยงานทั้งหลาย ทำให้เห็นว่านโยบายการบริหารงานบุคคลเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องมี เพราะหน่วยงานหลายหน่วยที่ไม่มีการกำหนดนโยบายหรือมีแต่ผู้ปฏิบัติงานไม่ทราบว่ามีก็ยังสามารถปฏิบัติงานไปได้ แม้แต่นักวิชาการด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์ เช่น เดล บีช (Dale Beach) ก็ได้ให้ทัศนะไว้ดังนี้ องค์การหลายแห่งไม่เคยกำหนดนโยบายในการบริหารทรัพยากรมนุษย์เลย ผู้บริหารระดับสูงขององค์การไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายในการปฏิบัติงานที่ปราศจากนโยบายกำกับและคุณค่ารวมทั้งประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีนโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่เหมาะสมอีกด้วย บีชได้อธิบายถึงเหตุผลที่องค์การทั้งหลายจำเป็นต้องมีนโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ดังต่อไปนี้คือ
1. การที่จะกำหนดนโยบายได้นั้น ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องศึกษาความต้องการชั้นพื้นฐานทั้งขององค์การและของผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งต้องพิจารณาอย่างครอบคลุมถึงการปฏิบัติงานทั้งของภายในองค์การเองและเปรียบเทียบกับองค์การอื่น นโยบายจะสามารถกำหนดได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายบริหารทราบข้อมูลเหล่านี้
2. การกำหนดนโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ทำให้เกิดการปฏิบัติที่คงเส้นคงวาสำหรับบุคลากรทุกคนในองค์การ ซึ่งจะช่วยขจัดระบบอุปถัมภ์ หรือระบบชอบพอกันเป็นพิเศษ และการเลือกปฏิบัติลงไปได้มาก ทำให้การปฏิบัติงานเป็นระบบมีระเบียบและหลักเกณฑ์
3. การมีนโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ จะช่วยทำให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารงาน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารก็ตาม โดยปกติผู้บริหารจะมีระยะเวลาจำกัดในการทำงาน เช่น บางคนมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่แน่นอน บางคนก็อาจจะเกษียณอายุหรือลาออกไป แต่การดำเนินงานจะต้องดำรงอยู่ต่อไป การมีนโยบายจะทำให้เกิดเสถียรภาพในการปฏิบัติงาน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารก็ตาม
4. นโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์จะช่วยกำหนดมาตรฐานในการทำงานผู้บริหารขององค์การสามารถเปรียบเทียบผลงานที่ปฏิบัติได้จริงกบนโยบายที่กำหนดไว้ ทำให้ทราบว่าผู้ปฏิบัติงานหรือบุคลากรในองค์การมีขีดความสามารถในการปฏิบัติงานอย่างไร รวมทั้งประสิทธิภาพในการทำงานขององค์การเป็นอย่างไรด้วย
5. นโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องเหมาะสม จะช่วยสร้างความภักดีต่อองค์การและความกระตือรือร้นในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายนั้นได้กำหนดเรื่องต่าง ๆ ไว้อย่างเป็นธรรม ย่อมช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้อาศัยนโยบายเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและเห็นช่องทางความก้าวหน้าในงานที่ตนปฏิบัติอยู่
จากเหตุผลที่อธิบายมาจะเห็นว่า นโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานที่ฝ่ายบริหารหรือผู้มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้กำหนดขึ้นนั้น มีความสำคัญและจำเป็นต้องกำหนดให้มีขึ้นในทุกองค์การ เพราะนโยบายจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การปฏิบัติงานดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
นอกจากนโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์จะมีที่มาเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์แล้ว ยังมีที่มาอื่น ๆ อีก เช่น นโยบายเกิดจากค่านิยมบางประการในสังคม เช่น ค่านิยมเรื่องความเป็นธรรมหรือความเสมอภาคในโอกาส เมื่อสังคมยอมรับค่านิยมนี้ก็จำเป็นต้องกำหนดเป็นนโยบาย เช่น นโยบายการบริหารงานบุคคลตามระบบคุณธรรม เป็นต้น นโยบายเกิดขึ้นเนื่องจากประสบการณ์ โดยเฉพาะจากบทเรียนจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต ทำให้มีความจำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบายเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต ทำให้ความจำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบายเพื่อป้องกันความผิดพลาด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นอีกในปัจจุบันหรือในอนาคต บางครั้งนโยบายอาจเกิดขึ้นเนื่องจากผู้บริหารขององค์การต้องการสร้างเอกลักษณ์ของหน่วยงาน เช่น นโยบายให้ผู้ปฏิบัติงานแต่งเครื่องแบบมาทำงาน หรือแต่งกายตามประเพณีนิยมของท้องถิ่นมาทำงานสัปดาห์ละหนึ่งวัน เป็นต้น ตามทัศนะของบีช ที่มาสำคัญของนโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่
1. การปฏิบัติงานในองค์การที่ผ่านมาในอดีต
2. การปฏิบัติงานที่นิยมแพร่หลายในองค์การหรือกิจการอื่น ๆ ในชุมชนนั้น หรือ แนวปฏิบัติที่นิยมแพร่หลายกันทั้งประเทศ
3. ทัศนคติ และปรัชญาในการบริหารของผู้บริหารระดับสูง
4. ทัศนคติ และปรัชญาในการบริหารของผู้บริหารระดับกลางและระดับล่าง
5. ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลที่เกิดขึ้นอย่างนับไม่ถ้วนในการปฏิบัติงานปกติประจำวัน
สำหรับนโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในราชการพลเรือนไทยนั้น นอกจากจะมีที่มาเช่นเดียวกับนโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ขององค์การอื่นแล้ว ยังมีที่มาที่มีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติข้างราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายแม่บทของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในราชการพลเรือนในปัจจุบันในมาตรา 8 ของกฎหมายดังกล่าว ได้ระบุว่า มาตรา 8 ก.พ. มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ (1) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐในด้านมาตรฐานค่าตอบแทน การบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล รวมตลอดทั้งการวางแผนกำลังคนและด้านอื่น ๆ เพื่อส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน จากตัวอย่างที่ยกมาแสดงให้เห็นว่านโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของราชการพลเรือนไทยมาจากคณะรัฐมนตรี โดย ก.พ. หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นองค์การกลางในการบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นผู้เสนอแนะและให้คำปรึกษาหรืออธิบายได้อีกนัยหนึ่งว่า นโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของราชการพลเรือนนั้นมีที่มาจากการเสนอแนะและหรือการให้คำปรึกษาของ ก.พ. โดยคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้กำหนดนโยบายดังกล่าว
ข้อมูลจัดทำขึ้นเพื่อสาธารณะประโยชน์และการศึกษาเท่านั้น