หมอออนไลน์: หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media) หูชั้นกลางอักเสบ หมายถึง การอักเสบของหูชั้นกลางจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
หูชั้นกลางอยู่ด้านหลังของเยื่อแก้วหู และมีท่อที่เชื่อมต่อกับโพรงหลังจมูก (ส่วนบนสุดของคอหอยที่อยู่ด้านหลังของโพรงจมูก) เรียกว่า "ท่อยูสเตเชียน (eustachian tube)" เชื้อโรคที่บริเวณจมูกและคอหอย สามารถเข้าไปในหูชั้นกลาง ทำให้เกิดการติดเชื้ออักเสบได้
หูชั้นกลางอักเสบสามารถแบ่งออกเป็น หูชั้นกลางอักเสบชนิดเฉียบพลัน และหูชั้นกลางอักเสบชนิดเรื้อรัง (หูน้ำหนวกเรื้อรัง)
โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่จะพบมากในทารกและเด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี หลังอายุ 5 ปีไปแล้วจะพบได้น้อยลง ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งพบได้น้อยลง
เด็กเล็กที่อยู่รวมเป็นกลุ่มในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจและหูชั้นกลางอักเสบได้ง่าย เด็กที่กินนมขวด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูดนมในท่านอนหงาย) มีโอกาสเป็นหูชั้นกลางอักเสบมากกว่าเด็กที่กินนมมารดา เด็กที่เป็นเพดานโหว่ หวัดภูมิแพ้ และผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศและควันบุหรี่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดหูชั้นกลางอักเสบ
ผู้ใหญ่ แม้จะพบโรคนี้ค่อนข้างน้อย แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าคนอายุน้อย และอาจพบว่ามีโรคหรือภาวะอื่น (เช่น มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง) ร่วมด้วย ท่อยูสเตเชี่ยนตีบตันจากรังสีบำบัด) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังหรือกำเริบซ้ำซากได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยกลางคนและวัยสูงอายุ
สาเหตุ
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media) มักเกิดร่วมกับการติดเชื้อในบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและคอ) ได้แก่ ไข้หวัดและทอนซิลอักเสบ บางรายอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของหัด ไข้หวัดใหญ่ ไอกรน ทำให้เชื้อโรคบริเวณจมูกและคอหอยผ่านท่อยูสเตเชียน (eustachian tube) เข้าไปในหูชั้นกลาง เกิดการอักเสบ ทำให้เยื่อบุผิวภายในหูชั้นกลางและท่อยูสเตเชียนบวม และมีน้ำหรือหนองขังอยู่ในหูชั้นกลาง เพราะไม่อาจระบายผ่านท่อยูสเตเชียนที่บวมและอุดตันได้ ในที่สุดเยื่อแก้วหู (ซึ่งเป็นเยื่อบาง ๆ กั้นอยู่ระหว่างหูชั้นกลางกับหูชั้นนอก) ก็จะเกิดการทะลุเป็นรู น้ำหรือหนองที่ขังอยู่ภายในก็จะไหลออกมากลายเป็นหูน้ำหนวก
บางรายอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคหวัดภูมิแพ้ ซึ่งเกิดจากท่อยูสเตเชียนบวม และเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมา
เชื้อที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ ไวรัส และแบคทีเรีย
ไวรัสที่เป็นสาเหตุของการอักเสบของหูชั้นกลางเป็นกลุ่มเดียวกับที่พบในไข้หวัด ได้แก่ ไวรัสไรโน (rhinovirus), ไวรัสอาร์เอสวี (respiratory syncytial virus/RSV) พาราอินฟลูเอนซา (parainfluenza), ไวรัสโคโรนา (coronavirus), ไวรัสอะดีโน (adenovirus)
แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการอักเสบของหูชั้นกลางที่พบบ่อย ได้แก่ สเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนีย (Streptococcus pneumoniae), สแตฟีโลค็อกคัส (staphylococcus), สเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (group A streptococcus), ฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ (Hemophilus influenzae), สูโดโมแนส (pseudomonas)
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน พบมากในทารกและเด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ซึ่งท่อยูสเตเชียนยังเจริญไม่สมบูรณ์ มีลักษณะสั้น ตีบแคบและเป็นแนวราบตรงมากกว่าในเด็กโตและผู้ใหญ่ จึงมีการโอกาสอุดตันและเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (chronic otitis media) ซึ่งเป็นภาวะที่มีการทะลุของเยื่อแก้วหู และมีน้ำหนวก (ของเหลวหรือหนอง) ไหลแบบเรื้อรัง โดยมากจะเริ่มเป็นมาตั้งแต่เด็ก มักเป็นผลมาจากหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หรือปล่อยให้เป็นเรื้อรังจนแก้วหูมีรูทะลุ
นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุจากแก้วหูทะลุเนื่องจากได้รับบาดเจ็บ (เช่น จากการใช้ไม้แคะหู การเล่นพลุ ประทัด หรือเสียงระเบิด) หรือจากผลแทรกซ้อนของการรักษาหูชั้นกลางอักเสบด้วยการผ่าตัดกรีดเยื่อแก้วหู (myringotomy) เพื่อระบายหนอง หรือใส่ท่อระบาย (tympanostomy tubes) แต่รูที่เกิดจากการผ่าตัดนั้นไม่สามารถปิดได้เอง
เด็กที่ขาดอาหาร เด็กที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome) เด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงหรือขาดสุขนิสัยจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าเด็กที่แข็งแรง บางครั้งอาจพบร่วมกับผู้ที่เป็นทอนซิลอักเสบเรื้อรัง ไซนัสอักเสบเรื้อรัง โรคหวัดภูมิแพ้ ผนังกั้นจมูกคด ติ่งเนื้อเมือกจมูก เพดานโหว่ ต่อมอะดีนอยด์โต* หรือมีความผิดปกติของท่อยูสเตเชียนมาแต่กำเนิด
ลักษณะของเยื่อแก้วหูในผู้ป่วยหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
การอักเสบระยะแรก
การอักเสบระยะหลัง
*ต่อมอะดีนอยด์ (adenoid) เป็นต่อม (หรือปุ่ม) ของเนื้อเยื่อน้ำเหลือง อยู่ที่ด้านข้าง 2 ข้างของเพดานโพรงหลังจมูก (nasopharynx) ใกล้กับรูเปิดของท่อยูสเตเชียน ทำหน้าที่ขจัดเชื้อโรคเช่นเดียวกับทอนซิล (จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "Pharyngeal tonsil" หรือ "Nasopharyngeal tonsil") ในเด็กเล็กต่อมนี้มักมีขนาดโต และหากไปปิดรูของท่อยูสเตเชียน ก็ทำให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบได้
อาการ
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน มักมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันหลังจากเป็นไข้หวัด เจ็บคอ หรือเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจอื่น ๆ โดยจะมีอาการปวดในรูหู (แต่ดึงใบหูจะไม่เจ็บมากขึ้น) หูอื้อหรือมีเสียงในหู หูตึงหรือได้ยินไม่ชัด มีไข้สูง หนาวสั่น อาจมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน มีของเหลวหรือหนองไหลออกจากหู (เนื่องจากเยื่อแก้วหูถูกน้ำหรือหนองในหูชั้นกลางดันเป็นรูทะลุ) และหลังจากมีของเหลวไหลออกออกมา อาการไข้และปวดหูมักจะทุเลาลง
เด็กเล็กมักมีไข้สูง ปวดหู (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานอนราบ) นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ เบื่ออาหารร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการชักเนื่องจากไข้สูง มักมีอาการของไข้หวัดหรือไอร่วมด้วย
ทารกจะมีอาการไข้สูง ตื่นขึ้นร้องกวนกลางดึก และร้องงอแงเกือบตลอดเวลา บางรายอาจเอามือจับ ดึง หรือขยี้ใบหูตัวเอง เนื่องมาจากมีอาการเจ็บปวดในหูมากโดยยังพูดไม่ได้ อาจมีอาการไม่ดูดนม อาเจียน หรือท้องเดิน
หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (หูน้ำหนวกเรื้อรัง) มักมีอาการเรื้อรังนานเกิน 3 เดือน ด้วยอาการมีน้ำหนวกไหลตลอดเวลา หรือเป็น ๆ หาย ๆ มักเกิดขึ้นเวลาเป็นหวัด เจ็บคอ หรือมีน้ำเข้าหู หรือหลังจากเล่นน้ำ หูน้ำหนวกมักมีลักษณะเป็นหนองสีเหลืองหรือสีเขียว
ถ้าเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูใหญ่ถึงขอบแก้วหู และมีขี้ไคลหรือโคเลสเตียโทมา (cholesteatoma) เกิดขึ้นภายในหูชั้นกลางร่วมด้วย หนองที่ไหลออกมามักมีกลิ่นเหม็นมาก หรือมีหนองไหลออกมาเรื่อย ๆ แม้จะให้ยารักษาเต็มที่แล้ว
ผู้ป่วยมักมีอาการหูอื้อ หูตึง หูน้ำหนวก บางรายอาจมีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
ส่วนมากจะไม่มีไข้หรือเจ็บปวดในรูหูแต่อย่างใด นอกจากเวลามีการกำเริบของหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน อาจมีไข้ และปวดหูได้
ภาวะแทรกซ้อน
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้กลายเป็นหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หูชั้นในอักเสบ (จากเชื้อแบคทีเรียลุกลามเข้าไปในหูชั้นใน ทำให้มีอาการหูอื้อ มีเสียงดังในหู และบ้านหมุน) โพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบ (mastoiditis ซึ่งจะมีไข้สูงร่วมกับปวดตรงบริเวณกระดูกมาสตอยด์ตรงหลังหู มีลักษณะบวมแดงร้อน คล้ายหัวฝี) อัมพาตใบหน้าครึ่งซีก หูหนวก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีสมอง
บางรายหลังจากการติดเชื้อหายดีและอาการทุเลาไปแล้ว อาจเกิดภาวะมีน้ำในหูชั้นกลาง (otitis media with effusion) ผู้ป่วยจะรู้สึกแน่น ๆ หรือตัน ๆ ในหู และการได้ยินลดลง มักพบในเด็กเล็กและหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือไม่เกิน 3 เดือน ในรายที่มีอาการนานเกิน 3 เดือน แพทย์จะทำการรักษาด้วยการใส่ท่อระบาย รวมทั้งทำการตรวจหาและแก้ไขสาเหตุ
หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบ ฝีรอบ ๆ หู หูชั้นในอักเสบ หูหนวกสนิท (เนื่องจากกระดูกนำเสียงภายในหูถูกทำลาย หรือประสาทหูเสื่อม) หรือทำลายประสาทใบหน้า (ทำให้กลายเป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก) เชื้ออาจลุกลามเข้าสมอง ทำให้เกิดการติดเชื้อของหลอดเลือดในกะโหลกศีรษะ (sigmoid sinus thrombophlebitis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีสมอง เป็นอันตรายได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งมีสิ่งตรวจพบดังนี้
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ตรวจพบไข้ ใช้เครื่องส่องหู (otoscope) ตรวจดูหูจะเห็นเยื่อแก้วหูโป่งออกและเป็นสีแดงเรื่อ ๆ
ในรายที่พบว่า มีน้ำหรือหนองไหลออกจากหู (ผู้ซึ่งผู้ป่วยมักจะไม่มีไข้ และหายปวดหู) จะตรวจพบเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรู
หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ใช้เครื่องส่องหู จะพบเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูกว้าง อาจตรวจพบของเหลวในหูชั้นกลาง มีลักษณะเป็นน้ำใส ๆ เป็นมูกหรือหนอง และเนื้อเยื่อสีแดงที่เกิดจากการอักเสบ (granulation tissue) ร่วมด้วย
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่เยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูใหญ่ถึงขอบแก้วหู ซึ่งจัดเป็นหูน้ำหนวกเรื้อรังชนิดที่มีอันตรายร้ายแรงนั้น อาจตรวจพบ "โคเลสเตียโทมา (cholesteatoma)*" ซึ่งเห็นเป็นสารสีขาวคล้ายไข่มุก (white keratin debris)
บางกรณี แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจดูว่าภาวะมีน้ำในหูชั้นกลางด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า "pneumatic otoscope", การตรวจวัดการเคลื่อนไหวของเยื่อแก้วหู (tympanometry), การทดสอบการได้ยิน, การเพาะเชื้อจากหนองที่ออกจากรูทะลุของเยื่อแก้วหู (ที่แตกเองหรือจากที่แพทย์ทำการเจาะเพื่อการวินิจฉัย) เป็นต้น
ในผู้ใหญ่ที่หูชั้นกลางอักเสบข้างเดียวที่เกิดซ้ำซากบ่อย ๆ ซึ่งสงสัยอาจมีสาเหตุจากมีก้อนมะเร็งในโพรงหลังจมูก แพทย์จะทำการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
ในรายที่เป็น ๆ หาย ๆ บ่อย หรือเป็นหูน้ำหนวกเรื้อรัง แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพื่อค้นหาสาเหตุและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การทดสอบการได้ยิน เอกซเรย์กระดูกมาสตอยด์ การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
*โคเลสเตียโทมา เกิดจากการสะสมของเซลล์เยื่อบุหูชั้นนอกที่ตายและหลุดลอก (ขี้ไคล) เคลื่อนที่ผ่านรูทะลุขนาดใหญ่ของเยื่อแก้วหู เข้าไปสะสมในหูชั้นกลางและโพรงกระดูกมาสตอยด์ ขี้ไคลดังกล่าวจะค่อย ๆ สะสมกลายเป็นถุง (ซีสต์) ขี้ไคลก้อนโตขี้นเรื่อย ๆ คล้ายก้อนเนื้องอก เรียกว่า "โคเลสเตียโทมา" ซึ่งเกิดการติดเชื้อง่าย กลายเป็นหนอง (หูน้ำหนวก) ไหลออกมาเรื้อรัง รวมทั้งยังก่อให้เกิดแรงเบียดเสียดทำลายกระดูกหูและกระดูกส่วนฐานของกะโหลก ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา
การรักษาโดยแพทย์
1. หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
(1) แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ ได้แก่ ให้ยาแก้ปวดลดไข้ (เช่น พาราเซตามอล), ใช้ยาชาหยอดหูบรรเทาปวด วันละ 3-4 ครั้ง ถ้าเยื่อแก้วหูไม่มีรูทะลุ
สำหรับผู้ใหญ่ แพทย์จะให้ยาแก้แพ้ในรายที่เป็นหวัดภูมิแพ้, ให้ยาแก้คัดจมูก (เช่น สูโดเอฟีดรีน) เพื่อลดอาการบวมของท่อยูสเตเชียน (จะไม่ใช้สำหรับเด็กเล็ก เพราะไม่มีประโยชน์ และอาจเกิดผลข้างเคียงได้มาก)
(2) แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ผู้ใหญ่ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะทุกราย
เด็กอายุต่ำกว่า 24 เดือน (2 ปี) แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะทุกราย
เด็กอายุตั้งแต่ 24 เดือน (2 ปี) ขึ้นไป ที่มีอาการรุนแรง (มีไข้เท่ากับ 39 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า หรือมีอาการปวดหูรุนแรง) มีหนองไหลออกจากหู หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถติดตามดูอาการภายใน 48-72 ชั่วโมง
เด็กอายุตั้งแต่ 24 เดือน (2 ปี) ขึ้นไป ที่มีอาการไม่มาก (มีไข้น้อยกว่า 39 องศาเซลเซียส และไม่มีอาการปวดหู หรือปวดหูเล็กน้อย) ซึ่งในระยะแรกแพทย์ให้การรักษาตามอาการ (ยาลดไข้แก้ปวด) หลังนัดมาติดตามดูอาการภายใน 48 ชั่วโมง พบว่าอาการไม่ทุเลา หรือกลับเป็นมากขึ้น (ไข้สูงหรือปวดหูมากขึ้น) แพทย์ก็จะให้ยาปฏิชีวนะเพิ่มเติม
เด็กอายุตั้งแต่ 24 เดือน (2 ปี) ขึ้นไป ที่มีอาการไม่มาก (มีไข้น้อยกว่า 39 องศาเซลเซียส และไม่มีอาการปวดหู หรือปวดหูเล็กน้อย) ซึ่งแพทย์ไม่สามารถติดตามอาการได้ภายใน 48-72 ชั่วโมง แพทย์ก็จะให้ยาปฏิชีวนะรักษาตั้งแต่แรก
แพทย์จะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรือโคอะม็อกซิคลาฟ นาน 10 วัน (สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หรือมีอาการรุนแรง) นาน 5-7 วัน (สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป และมีอาการไม่รุนแรง) ในรายที่แพ้เพนิซิลลินแพทย์จะให้อะซิโทรไมซิน นาน 5 วัน
(3) ในรายที่ให้ยาปฏิชีวนะนาน 48-72 ชั่วโมงแล้วอาการไม่ทุเลา (ยังมีไข้ ปวดหูมาก เยื่อแก้วหูบวมแดง) แพทย์หูคอจมูกจะทำการตรวจรักษาเพิ่มเติม และเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะตัวใหม่ (เช่น ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน เลโวฟล็อกซาซิน เป็นต้น)
บางกรณีอาจต้องใช้เข็มเจาะเยื่อแก้วหู (tympanocentesis) หรือผ่าตัดกรีดเยื่อแก้วหู (myringotomy) เพื่อระบายน้ำหรือหนองออกจากหูชั้นกลาง ซึ่งเยื่อแก้วหูจะปิดได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
ในรายที่มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ (3 ครั้งใน 6 เดือน หรือ 4 ครั้งใน 1 ปี) หรือมีภาวะมีน้ำในหูชั้นกลางหลังจากการอักเสบทุเลาไปแล้ว แพทย์จะทำการผ่าตัดกรีดเยื่อแก้วหูและใส่ท่อระบาย (tympanostomy tube) คาไว้นานเป็นแรมเดือนแรมปีจนกว่าจะหายดี และทำการตรวจหาและแก้ไขสาเหตุ โดยฉพาะอย่างยิ่งในผู้ใหญ่ แพทย์จะทำการตรวจให้แน่ใจว่ามีภาวะร้ายแรง (เช่น มะเร็งโพรงหลังจมูก) ซ่อนเร้นอยู่หรือไม่
2. หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง
(1) แพทย์จะให้การรักษาโดยใช้อุปกรณ์ (เช่น เครื่องดูด ไม้พันสำลี) ทำความสะอาดช่องหู น้ำหนอง ของเหลว และเนื้อตายในหูชั้นกลางออกให้หมด เพื่อให้ยาหยอดหูสามารถผ่านเข้าไปออกฤทธิ์ต่อเนื้อเยื่อที่อักเสบได้ดี ทำวันละ 2-3 ครั้ง หลังทำความสะอาดหูเสร็จทุกครั้ง ทำการหยอดหูด้วยยาหยอดหูที่มีตัวยาปฏิชีวนะ หรือมีตัวยาปฏิชีวนะผสมกับยาสเตียรอยด์ (ทีมีฤทธิ์ลดการอักเสบ) ในบางรายแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดกินหรือฉีดร่วมด้วย ถ้ามีอาการอักเสบกำเริบเฉียบพลัน (เช่น มีไข้ ปวดหู) ให้กินยาปฏิชีวนะนาน 10 วัน
(2) ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการหูหนวกหูตึงมาก เยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูใหญ่ถึงขอบแก้วหู มีฝีขึ้นที่หลังหู หรือมีอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก แพทย์หูคอจมูกจะทำการตรวจรักษาเพิ่มเติมและทำการแก้ไขตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น รักษาโรคหวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ ผนังกั้นจมูกคด ติ่งเนื้อเมือกจมูก ต่อมอะดีนอยด์อักเสบ (adenoiditis) เป็นต้น
ถ้าไม่ได้ผลจะทำการผ่าตัดปะเยื่อแก้วหู (tympanoplasty) โดยนำเนื้อเยื่อส่วนอื่นในร่างกาย (เช่น หลอดเลือดดำ เยื่อพังผืดของกล้ามเนื้อ) มาปะรอบบริเวณรูทะลุบนเยื่อแก้วหู นอกจากนี้บางรายอาจต้องทำการผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกน้ำเสียง
ในรายที่มีโคเลสเตียโทมา หรือโพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบเรื้อรัง (chronic mastoiditis) แทรกซ้อน แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด
ผู้ป่วยที่มีปัญหาการได้ยินอย่างถาวร แพทย์จะแนะนำให้ใส่เครื่องช่วยฟัง (hearing aids)
(3) ในรายที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง หรือคอแข็ง หรือสงสัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีสมองแทรกซ้อน แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล
ผลการรักษา หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันการณ์ ส่วนมากจะหายขาดได้ ในรายที่ได้รับการรักษาล่าช้าไป หรือได้รับยาไม่เพียงพอหรือไม่ถูกต้อง ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาภายหลัง
การดูแลตนเอง
หากสงสัยมีอาการของหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (เช่น มีไข้ ปวดหู หูน้ำหนวกไหล หรือทารกมีไข้ เป็นหวัด ร่วมกับร้องกวนงอแงไม่หยุด นอนไม่ได้ เอามือดึงใบหู) หรือหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (เช่น มีหูน้ำหนวกไหลเรื้อรัง และหูตึง) ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นหูชั้นลางอักเสบ ควรดูแลรักษา ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
หาทางป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเป็นไข้หวัด
หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกควันบุหรี่
ขณะที่มีน้ำหนวกไหล ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู โดยใช้สำลีหรือวัสดุอุดรูหู ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหูขณะอาบน้ำทุกครั้ง และงดการลงเล่นน้ำ ดำน้ำ หรือว่ายน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลองจนกว่าโรคจะหายเป็นปกติ
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
1. สำหรับหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีไข้ตั้งแต่ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือมีไข้นานเกิน 48 ชั่วโมง
มีอาการปวดหูมาก (ทารกนอนไม่ได้ ร้องกวนงอแงตลอดเวลา) หรือมีอาการปวดหูนานเกิน 48 ชั่วโมง
มีน้ำหรือหนองไหลออกจากหู
มีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือชัก
กินยารักษาตามที่แพทย์แนะนำ 48 ชั่วโมงแล้วอาการไม่ทุเลา
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
มีอาการกำเริบใหม่หลังจากรักษาจนอาการหายแล้ว
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
2. สำหรับหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีไข้ หรือปวดหู
สงสัยมีอาการแทรกซ้อน เช่น ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เดินเซ เห็นบ้านหมุน มีฝีรอบ ๆ หู เป็นต้น
ดูแลตนเองตามที่แพทย์แนะนำ 1 สัปดาห์แล้วอาการไม่ทุเลา
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
หาทางป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัด โดยสอนให้เด็กรู้จักล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นไข้หวัด ไม่ไอจามรดกัน เด็กที่เป็นไข้หวัดควรหยุดมาสถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียน และพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน
อยู่ในที่ที่ปลอดจากควันบุหรี่ ห้ามไม่ให้คนสูบบุหรี่ในบ้าน
เด็กเล็กควรกินนมมารดานาน 6 เดือน หากกินนมขวดควรจับตัวตั้งขึ้น อย่าให้อยู่ในท่านอนหงาย
ไม่แคะ เขี่ย หรือเช็ดขี้หูออกด้วยการใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใด ๆ
ให้วัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด ไอกรน เป็นต้น และควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นในการให้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนีย (pneumococcal vaccine)
ข้อแนะนำ
ทารกและเด็กเล็กที่เป็นไข้หวัด มีโอกาสเป็นหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันแทรกซ้อนได้บ่อยกว่าเด็กโตและผู้ใหญ่ ดังนั้น เมื่อทารกและเด็กเล็กที่เป็นไข้หวัด หากมีอาการปวดหู หูอื้อ หรือร้องกวนงอแงตลอดเวลา ควรรีบพาไปพบแพทย์ ถ้าแพทย์ตรวจพบว่าเป็นหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปพบแพทย์ตามนัด และถ้าแพทย์ให้ยาปฏิชีวนะ ก็ควรกินให้ครบกำหนดระยะเวลาตามที่แพทย์แนะนำถึงแม้อาการจะทุเลาแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หรือหูน้ำหนวกเรื้อรัง