ยาแก้เมาเหล้า: เหล้าต่อเบียร์ เบียร์ต่อเหล้า ดื่มแบบไหนเมาไวแฮงก์หนัก?

ยาแก้เมาเหล้า: เหล้าต่อเบียร์ เบียร์ต่อเหล้า ดื่มแบบไหนเมาไวแฮงก์หนัก?

หยุดยาวๆ แบบนี้ ปาร์ตี้ทีต้องมีดื่มกันบ้าง หลายครั้งที่เราจัดชุดใหญ่ ยิ่งดึก ยิ่งมัน แต่ในวินาทีที่กำลังคึกๆ นั้น กลายเป็นว่าแอลกอฮอล์ที่มีอยู่เริ่มพร่องไปพร้อมกับสติ เราเลยเริ่มเข้าโหมด ‘อะไรก็ได้’ จากตอนแรกที่เริ่มด้วยเหล้า หลังๆ ก็เอาเบียร์มาดื่มต่อ ยกแก้วกันไปยกแก้วกันมาจนเริ่มชัตดาวน์ นี่ไม่นับพวกบอมบ์ทั้งหลาย กลับบ้านตื่นเช้ามาก็แฮงก์สิรออะไร

 
ในวงการนักดื่ม เรามักมีความเชื่อว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์หลายประเภทผสมปนเปกันจะทำให้เราเมาเละเทะและแฮงก์หนักกว่าเดิม ซึ่งบ้านเรามีทั้งเชื่อกันบ้างไม่เชื่อบ้าง แต่ในยุโรปแถบๆ ทางเหนือ ชาวไอริสดินแดนแห่งเบียร์ดำ ซึ่งการดื่มเหล้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมก็มีคติสอนใจจากโบราณกาลว่า “เบียร์ต่อเหล้าไม่เมาเละ เหล้าต่อเบียร์ เรายังเคลียร์ เบียร์ต่อไวน์เราสบายๆ แต่ไวน์ต่อด้วยเบียร์เธอจะรู้สึกประหลาด” (Beer before liquor, you’ve never been sicker – Liquor before beer, you’re in the clear!” or “Beer before wine, and you’ll feel fine – Wine before beer and you’ll feel queer!)’ ซึ่งภาษิตทำนองเดียวกันนี้พบในหลายภาษา ทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ แปลกดีที่ทางยุโรปเชื่อว่าเริ่มด้วยเบียร์แล้วจะโอเค ในขณะทางอเมริกันจะเชื่อคล้ายๆ บ้านเราว่า ไม่ควรดื่มสลับกัน

การดื่มเป็นเรื่องจริงจัง และนักวิทยาศาสตร์เองก็ต้องการหาคำตอบเพื่อไขวิธีการดื่มที่มีคุณภาพให้กับมวลมนุษย์ ว่า เอ้อ ตกลงแล้วการดื่มสลับๆ กันมันมีผลกับความเมาและการแฮงก์จริงไหม แม้จะกินแล้วทำร้ายตับ แต่เราก็ต้องทำร้ายอย่างพอประมาณบ้าง ซึ่งก็ได้คำตอบว่า ความเชื่อก็เป็นเพียงความเชื่อล้วนๆ แต่ที่เรารู้สึกว่าเมาหนักขึ้นอาจเป็นเพราะพฤติกรรมการดื่ม พอเราเริ่มดื่มต่อๆ กันก็เแปลว่าเป็นช่วงที่เรากำลังจัดหนัก ผลของมันก็หนักตามไปด้วย


ดื่มเบียร์ต่อเหล้า เมาหนักกว่า?

ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าความเชื่อเรื่องการดื่มเบียร์แล้วต่อด้วยเหล้าทำให้เรารู้สึกเมาง่ายอาจเป็นเพราะว่า เครื่องดื่มประเภทเบียร์มีแก๊ส เลยอาจเป็นไปได้ว่าการดื่มเบียร์ลงไปก่อนทำให้กระเพาะระคายเคือง พอระคายเคืองแล้วก็เลยดูดซึมแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น

แต่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า อาการระคายกระเพาะที่ว่าเป็นแค่เรื่องจิ๊บๆ แทบไม่มีผลกับความเมามายอย่างมีนัยสำคัญขนาดนั้น เคล็ดสำคัญที่จะทำให้เมาช้า จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเราควรจะดื่มอะไรก่อนหลัง แต่อยู่ที่ขณะเราดื่ม เราควรดื่มพร้อมกับอาหารไปด้วย เพราะอาหารจะช่วยลดการดูดซึมแอลกอฮอล์ลง

Carlton K. Erickson ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยว่าด้วยวิทยาศาสตร์ของการเสพย์ติดที่ University of Texas College of Pharmacy เสนอว่า ไม่เชิงว่าความรู้สึกเมาไวจะเกี่ยวกับปฏิกิริยาของร่างกายต่อการรับแอลกอฮอล์คนละประเภทที่กินก่อนหรือหลัง แต่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการดื่มด้วยเป็นสำคัญ


ผู้อำนวยการบอกว่าตามปกติรูปแบบการดื่มของนักดื่มมักไม่ค่อยเริ่มด้วยเหล้าแล้วไปจบที่เบียร์ แต่มักจะเริ่มที่เบียร์ก่อนแล้วไปจบด้วยเหล้าแบบหนักๆ ก่อนจบค่ำคืนอันยาวนาน ดังนั้นนักดื่มเลยมักรู้สึกว่า เจ้าเหล้าชุดท้ายๆ ที่เทลงคอไปนี่แหละที่เราทำให้แฮงก์หนักเป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงคือพอนับปริมาณแอลกอฮอล์มวลรวมแล้ว ก็สมควรยิ่งที่จะจอดับและแฮงค์จัดในวันถัดมา


เริ่มด้วยเบียร์แบบความเชื่อยุโรปแฮงก์น้อยกว่า?

ในงานวิจัยจากเยอรมัน ดินแดนแห่งเบียร์ เพิ่งตีพิมพ์เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็พยายามตอบความเชื่อดังกล่าวว่าการเริ่มด้วยเบียร์แล้วไปจบที่ไวน์ทำให้แฮงก์น้อยลงจริงไหม สรุปแล้วงานวิจัยจาก The American Journal of Clinical Nutrition พบว่า จะดื่มสลับๆ กันแค่ไหน ก็ไม่มีผลกับการแฮงก์โอเวอร์มากเลย

ตัวงานวิจัยทดลองในกลุ่มนักดื่ม 90 คน เป็นกลุ่มตัวอย่างนักวิจัยที่คัดแล้วคัดอีกว่ามีพฤติกรรมการดื่ม ความทนทานต่อแอลกอฮอล์ เคยแฮงก์มากน้อยหรือบ่อยแค่ไหน โดยพยายามคัดให้มีลักษณะใกล้เคียงกันเพื่อความแม่นยำ ซึ่งทั้ง 90 คนจะถูกแบ่งเป็นสามกลุ่มและให้ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมเท่าๆ กัน กลุ่มแรกให้ดื่ม Carlsberg premium Pilsner จนเป่าแอลกอฮอล์ขึ้นที่ 0.05% และให้ไปดื่มไวน์จนกึ่มที่ 0.11% กลุ่มที่ 2 ให้ดื่มกลับกัน (ไวน์ก่อนแล้วค่อยเบียร์) กลุ่มที่สามให้ดื่มอย่างใดอย่างหนึ่ง

วิธีการทดลองคือ พอจบรอบการดื่ม วันรุ่งขึ้นพอกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดไม่มีแอลกอฮอล์ในลมหายใจแล้ว นักวิจัยก็จัดการเก็บข้อมูลอาการแฮงก์จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น กลุ่มตัวอย่างก็จะได้สลับรูปแบบการดื่มแอลกอฮอล์ ไปทดลองวิธีดื่มในรูปแบบอื่นๆ ต่อ


ผลการศึกษาพบว่า ความเชื่อเรื่องดื่มอะไรก่อนหลังส่งผลกับอาการแฮงก์นั้นไม่มีอะไรจริงเลยซักนิด นักวิจัยพบแค่ว่าผู้หญิงมีแนวโน้มจะแฮงก์หนักกว่าผู้ชายเล็กน้อย ในขณะที่มาตรวัดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ น้ำหนักตัว ดัชนีมวลกาย ประสบการณ์การดื่ม ต่างไม่สามารถใช้เป็นเครื่องทำนายอาการแฮงก์ได้เลย สรุปก็คือขึ้นอยู่กับตัวบุคคลล้วนๆ


สุดท้ายแล้ว เหล้า-เบียร์-ไวน์ ล้วนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมวลมนุษย์มาอย่างช้านาน แต่อาการต่อเนื่องจากการเมามาย เช่น อาการแฮงก์ยังเป็นปริศนาสำหรับโลกวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กันอยู่ มีเพียงคำอธิบายคร่าวๆ เช่น ดื่มเบียร์อาจจะแฮงก์น้อยกว่า เพราะแม้เบียร์จะค่อนข้างมีปริมาณเยอะแต่ก็มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เข้มเท่าการดื่มเหล้า เราเลยค่อยๆ ดื่มและค่อยๆ รับแอกอฮอล์ไปทีละนิด ต่างกับการกระดกเหล้าเป็นช็อตๆ

หนึ่งในคำอธิบายที่พอจะยอมรับอย่างกว้างขวางว่าอาจเกี่ยวกับอาการแฮงก์คือภาวะขาดน้ำ (dehydration) คำแนะนำสำคัญคือขณะที่เรากำลังลั้นลาก็ต้องอย่าให้ร่างกายเราขาดน้ำ วิธีการง่ายๆ ก็แค่หมั่นดื่มน้ำบ่อยๆ กฏพื้นๆ คือดื่มแอลกอฮอล์ไปเท่าไหร่ก็ดื่มน้ำตามไปเท่านั้น และหลังดื่มเสร็จก็เติมออกซิเจนให้สมองด้วยการไปเดินเบาๆ ก่อนนอนซักนิด ก็อาจจะพอช่วยป้องกันและบรรเทาอาการแฮงก์ได้บ้าง

 

ลงประกาศฟรี โฆษณาฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทสินค้าฟรี เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google