ผู้ป่วยโรคหัวใจ ออกกำลังกายอย่างไรให้ปลอดภัย

ผู้ป่วยโรคหัวใจ ออกกำลังกายอย่างไรให้ปลอดภัย

หลายคนคงทราบกันดีว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ การออกกำลังกายอาจทำให้ทั้งผู้ป่วยและคนใกล้ชิดรู้สึกเป็นกังวลถึงความปลอดภัยของสุขภาพหัวใจ ในความเป็นจริงแล้ว มีงานศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญต่อผู้ป่วยโรคหัวใจเช่นกัน เพราะอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตและการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) รวมถึงยังช่วยให้สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้การออกกำลังกายจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ แต่การออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสมอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจขั้นรุนแรง ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องการออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจความพร้อมของร่างกายก่อน เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือด ความดันโลหิต และอัตราการหายใจ เป็นต้น


ผู้ป่วยโรคหัวใจควรออกกำลังกายแบบไหน

เนื่องจากโรคหัวใจเป็นโรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ผู้ป่วยจึงควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลักและหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหม โดยในเบื้องต้นอาจเลือกออกกำลังกายด้วยวิธีดังต่อไปนี้


1. โยคะหรือไท้เก๊ก

การออกกำลังกายด้วยการเล่นโยคะหรือรำไท้เก๊ก เป็นการออกกำลังกายโดยการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้า ๆ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ช่วยให้ร่างกายทรงตัวได้ดีขึ้น และช่วยลดความเครียด รวมถึงยังมีงานศึกษาบางชิ้นพบว่า การเล่นโยคะอาจช่วยลดระดับไขมันในเลือด อย่างคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ และยังอาจช่วยควบคุมความดันโลหิตอีกด้วย


2. แอโรบิคหรือคาร์ดิโอ

วิธีการออกกำลังกายแบบแอโรบิคหรือคาร์ดิโอ อย่างการเดิน การว่ายน้ำ วิ่งจ๊อกกิ้ง หรือขับจักรยาน เป็นการออกกำลังกายที่เน้นสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหัวใจ ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น ช่วยลดความดันโลหิต หรือช่วยให้หายใจได้ดีขึ้น โดยในช่วงแรกควรเริ่มจากการออกกำลังกายอย่างเบา ๆ ไม่หักโหมจนเกินไป จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มระดับความหนักของการออกกำลังกายตามความเหมาะสมของร่างกาย


3. เวทเทรนนิ่ง

เวทเทรนนิ่งเป็นการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อที่อาศัยการใช้น้ำหนักให้เกิดแรงต้าน เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อและกระดูก ช่วยเรื่องการทรงตัว รวมถึงช่วยควบคุมน้ำหนักของผู้ป่วยเนื่องจากกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ออกกำลังกายด้วยการเวทเทรนนิ่งไม่ควรใช้น้ำหนักเกิน 10 กิโลกรัม โดยเริ่มจากการใช้น้ำหนักน้อย ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักโหม และที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวาย (Heart Failure) ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease) มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และผู้ที่มีความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ ความสม่ำเสมอในการออกกำลังกายก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยระยะเวลาการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจควรอยู่ที่ประมาณอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือประมาณวันละ 20–30 นาที และก่อนเริ่มการออกกำลังกาย ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจขั้นรุนแรงหรือมีประวัติการผ่าตัดหัวใจมาไม่นาน ซึ่งแพทย์จะตรวจร่างกายและให้คำแนะนำในการออกกำลังกายที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน


ข้อควรระวังก่อนออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ

ผู้ป่วยควรปฏิตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะหากแพทย์แนะนำให้พกยาไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin) และควรหมั่นสังเกตอัตราการเต้นของหัวใจเสมอ ทั้งในขณะออกกำลังกายและหลังออกกำลังกาย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรอุ่นร่างกาย (Warm Up) อย่างน้อย 5 นาทีก่อนเริ่มออกกำลังกายทุกครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมให้ร่างกาย โดยอาจยืดกล้ามเนื้อ หรือออกกำลังกายแบบเบา ๆ และคูลดาวน์ (Cool Down) ในช่วงท้ายของการออกกำลังกายด้วยการค่อย ๆ ผ่อนระดับความหนักหรือยืดกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจค่อย ๆ กลับสู่ภาวะปกติ และที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการนั่งพักหลังการออกกำลังกายอย่างทันที เนื่องจากอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการเวียนศีรษะหรือใจสั่น (Patpitation) ได้


อาการแบบใดที่เป็นสัญญาณให้หยุดออกกำลังกายและไปพบแพทย์

ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ออกกำลังกายควรหมั่นสังเกตตัวอาการของตัวเองเสมอ หากพบอาการปวดเมื่อย เวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม คลื่นไส้ หรือหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ควรหยุดออกกำลังกายและนั่งพักในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวกเพื่อให้ร่างกายได้พัก

อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อพักแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง รวมถึงพบอาการต่อไปนี้

    เจ็บหรือแน่นหน้าอก โดยเฉพาะกรณีที่อาการเกิดขึ้นบ่อย ๆ อาการเกิดเป็นเวลานาน อาการเกิดขึ้นแม้ไม่ได้ออกกำลังกาย อาการรุนแรงขึ้นหรืออาการไม่ดีขึ้นแม้จะรับประทานยาแล้ว
    รู้สึกปวดหรือแน่นบริเวณแขน คอ ขากรรไกร หรือหัวไหล่
    หายใจไม่อิ่ม
    จุกเสียด ท้องผูก
    แขนชา
    ตัวซีดหรือเหงื่อออกมากผิดปกติ
    เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
    ชีพจรสูงเกิน 120–150 ครั้งต่อนาที แม้อยู่ในช่วงพักหลังออกกำลังกายเป็นเวลานานเกิน 15 นาที

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ผู้ป่วยโรคหัวใจควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และคำนึงถึงความปลอดภัยขณะออกกำลังกายเสมอ โดยอาจบันทึกอาการที่พบขณะออกกำลังกายร่วมด้วย เพื่อให้แพทย์ช่วยพิจารณาและปรับการออกกำลังกายให้เหมาะสม รวมถึงควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายและไม่รัดแน่นจนเกินไปขณะออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหากสภาพอากาศร้อนเกินไป ดื่มน้ำบ่อย ๆ และค่อย ๆ ปรับความหนักของการออกกำลังกายโดยไม่หักโหมจนเกินไป

 

ลงประกาศฟรี โฆษณาฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทสินค้าฟรี เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google