ผู้เขียน หัวข้อ: เที่ยววัดอุปคุต เชียงใหม่ ไหว้พระอุปคุตอันศักดิ์สิทธิ์ ขอพรเสริมโชคลาภและเงินทอง  (อ่าน 14 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 367
    • ดูรายละเอียด
เที่ยววัดอุปคุต เชียงใหม่ ไหว้พระอุปคุตอันศักดิ์สิทธิ์ ขอพรเสริมโชคลาภและเงินทอง

เชียงใหม่ จังหวัดใหญ่ทางภาคเหนือ อุดมไปด้วยที่เที่ยวมากมาย รวมถึงวัดวาอารามต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในวัดเชียงใหม่ ที่เป็นที่เลื่องลือของสายมูทั้งหลาย นั่นคือ วัดอุปคุต วัดดังในตัวเมือง ที่มีความเชื่อกันว่า ใครได้บูชาพระอุปคุตจะร่ำรวย เป็นเศรษฐี มีโชคมีลาภ มีกินมีใช้ไม่ขาดมือ วันนี้เราจึงมีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วัดอุปคุต เชียงใหม่ มาฝากกัน

วัดอุปคุต ที่ตั้งและประวัติความเป็นมา

          วัดอุปคุต ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โซนเดียวกันกับ กาดหลวง หรือ ตลาดวโรรส เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2456 โดยชื่อของวัดตั้งตาม พระอุปคุต หรือ พระบัวเข็ม พระภิกษุในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

          มีตำนานเกี่ยวกับพระอุปคุตเล่าสืบกันมาว่า ครั้งหนึ่งมีสามีภรรยาฐานะยากจนคู่หนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่นอกเมืองเชียงใหม่ ประกอบอาชีพทำนาและค้าขาย วันหนึ่งในฤดูหนาว สองสามีภรรยาตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางเข้าตัวเมือง ระหว่างเดินทางมาจนข้ามแม่น้ำปิงมาฝั่งตะวันตก เข้าถนนท่าแพ ขณะนั้นยังเป็นเวลาเช้ามืด และเป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ พระจันทร์เต็มดวงสาดแสงสว่างไสว ขณะเพลิดเพลินกับบรรยากาศอยู่นั้น สายตาของทั้งคู่ก็เหลือบไปเห็นสามเณรน้อยรูปหนึ่งกำลังอุ้มบาตร ครองผ้าเป็นปริมณฑลตัดกับแสงจันทร์นวล เป็นภาพที่งดงาม จึงบังเกิดศรัทธาในตัวสามเณร และได้แบ่งสิ่งของที่ตั้งใจนำไปขายยกขึ้นอธิษฐานแล้วใส่ในบาตรของสามเณร หลังจากรับพรจากสามเณรแล้ว ชายผู้เป็นสามีนึกแปลกใจว่าสามเณรจากวัดใดกันแน่ที่ออกบิณฑบาตแต่เช้าตรู่ เขาจึงเดินตามสามเณรไป แต่สามเณรก็เดินไปถึงชายป่าแล้วหายวับไปที่ต้นไทรต้นหนึ่ง สามีเห็นเช่นนั้นก็วิ่งกลับมาบอกกับภรรยาและต่างเก็บความสงสัยไว้ในใจ

          นับแต่วันนั้นสองสามีภรรยาก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ได้ผลกำไรงามและมีฐานะร่ำรวยขึ้น ต่อมาจึงทราบจากพระผู้เฒ่ารูปหนึ่ง ผู้ทรงอภิญญาญาณเคร่งครัดในศีล ว่าการที่เจริญก้าวหน้าค้าขายร่ำรวยนั้น เนื่องจากอานิสงส์ที่ได้ตักบาตรกับสามเณร ผู้ซึ่งก็คือ พระอุปคุต มหาเถระที่เข้านิโรธสมาบัติอยู่ใต้สะดือทะเล ครั้นถึงวันพระขึ้น 15 ค่ำ ท่านจะแปลงเป็นสามเณรน้อยออกบิณฑบาตแต่เช้าตรู่เพื่อโปรดสัตว์ บุคคลใดได้ตักบาตรท่านพระมหาอุปคุตถือว่าเป็นบุคคลที่โชคดี ทำให้เจริญรุ่งเรือง สองสามีภรรยาได้ฟังก็เกิดปีติศรัทธา จึงได้สร้างวัดขึ้นบริเวณที่พบสามเณรน้อย ชาวบ้านทราบข่าวต่างมาอนุโมทนาและร่วมทำบุญ โดยตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดพระอุปคุต ต่อมาเปลี่ยนเป็นเรียกสั้น ๆ ว่า วัดอุปคุต จนทุกวันนี้

พระอุปคุต เป็นใคร
          ในทางพุทธศาสนา ปัจจุบันยังเชื่อว่าโลกนี้ยังมีพระอรหันต์องค์สำคัญ ผู้มีหน้าที่สืบทอดพุทธศาสนาให้ครบ 5,000 ปี นั่นคือ พระอุปคุต ซึ่งเป็นพระอรหันต์องค์สำคัญที่ยังมีชีวิตอยู่หลังสมัยพุทธกาล ที่ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าให้เป็นอนุพุทธะทำภารกิจสืบทอดพระศาสนาแทนพระพุทธเจ้าไปจนถึง พ.ศ. 5000 และเป็นเอตทัคคะในบรรดาธรรมถึกทั้งหลาย

          ตามคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์ผู้สำเร็จธรรม กล่าวว่า พระอุปคุต มีปฏิปทาดำเนินไปในทางสันโดษ มักน้อย ทรงสภาวะธาตุขันธ์ชั้นละเอียดเหนือยิ่งกว่าความเป็นทิพย์เนรมิตอยู่ในมณฑปแก้ว ณ ท้องทะเลหลวง (สะดือทะเล) ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ท่านจะออกจากสมาบัติขึ้นมาบิณฑบาตในโลกมนุษย์เฉพาะในวันเพ็ญพุธ (วันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ) เนรมิตกายเป็นเณรน้อยออกมาบิณฑบาตในตอนเช้ามืด แล้วจะลงไปอยู่ประจำที่กุฏิแก้วในท้องทะเลหลวงเช่นเดิม

          ตามความเชื่อของชาวพุทธล้านนามีว่า โอกาสที่จะได้ทำบุญกับพระอรหันต์นั้นยากเต็มที ใครที่ได้ทำบุญใส่บาตรกับพระอรหันต์นั้นถือเป็นการสร้างมหากุศล และยิ่งได้ทำบุญกับพระอรหันต์ที่ออกจากนิโรธสมาบัตินั้นยิ่งยากกว่า ผลจากการที่ได้สร้างมหากุศลนี้มีผลไพบูลย์ สามารถพลิกชะตาให้แก่ผู้สร้างกลายเป็นผู้อุดมไปด้วยโภคทรัพย์เพียงชั่วข้ามคืน

          ทั้งนี้ ชื่อ อุปคุต มีความหมายว่า ผู้คุ้มครองรักษา ส่วนรูปหล่อพระอุปคุตนั้นมีลักษณะมือตกลงไปในบาตรแล้วพระเศียรหันเชิดขึ้น หรือที่เรียกกันว่า ปางจกบาตร หมายถึง หน้ามองฟ้าหยุดพระอาทิตย์ชั่วคราว เพื่อฉันภัตตาหารให้ทันก่อนเพล แสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์มีกินมีใช้ ที่แม้แต่พระอาทิตย์ก็ยังต้องหยุดด้วยอานุภาพของท่าน

          นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ พระอุปคุต ว่าพระอุปคุตมีอิทธิฤทธิ์ปราบท้าววสวัตตี โดยในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 2 หลังพุทธปรินิพพาน ณ นครปาฏลีบุตรราชธานี พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองราชสมบัติในขณะนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมาก และได้ฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้งหมดที่พระองค์สร้างขึ้นมาตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่ต่อมาได้ถูกพญามารมาผจญ ท่านจึงนิมนต์พระอุปคุตไปปราบพญามารจนยอมแพ้พ่ายไป จากนั้นพระอุปคุตก็มีชื่อเสียงในทางปราบมาร

วัดอุปคุต มีอะไรบ้าง

          ภายในวัดอุปคุต มีวิหารประดิษฐานพระอุปคุต หรือที่คนเชียงใหม่เรียกว่า พระบัวเข็ม ซึ่งเป็นพระประธาน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำมันเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของชาวเหนือ วาดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2470 โดยพ่อบุญปั๋น พงษ์ประดิษฐ์ ศิลปินล้านนา หอเก็บพระพุทธรูปทรงลูกบาศก์ ยกพื้นสูง มีลายปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบผนังด้านนอก ทวารบาลเป็นยักษ์ปูนปั้น บานประตูลงรักปิดทอง 
พระพุทธรูปในวัดอุปคุต

ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน วันเป็งปุ๊ด

          สำหรับ ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน หรือ พิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด เป็นประเพณีนิยมที่มีเฉพาะในภาคเหนือเท่านั้น จัดขึ้นทุกปีของคืนวันขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกับวันพุธ โดยไม่เจาะจงว่าต้องอยู่ในเดือนใด ซึ่งในแต่ละปีก็แตกต่างมากน้อยกันไป แต่ประเพณีมีความแตกต่างด้านการนับเวลาในแต่ละจังหวัด อย่างจังหวัดเชียงใหม่ จะเริ่มสวดมนต์ในคืนวันอังคารช่วงห้าทุ่ม และตักบาตรตอนเที่ยงคืนวันพุธ ในขณะที่จังหวัดเชียงราย ลำปาง และแม่ฮ่องสอน จะเริ่มสวดมนต์ในคืนวันพุธช่วงห้าทุ่ม และตักบาตรตอนเที่ยงคืนวันพุธ

          โดยในคืนเป็งปุ๊ด พระภิกษุ-สามเณรทุกรูปจะออกบิณฑบาตตอนเที่ยงคืน บรรดาพุทธศาสนิกชนชาวเหนือจะเตรียมข้าวสาร-อาหารแห้งไว้คอยใส่บาตรตั้งแต่หลังเที่ยงคืน และจะไปคอยใส่บาตรที่หน้าบ้านตามถนนสายต่าง ๆ หรือตามแยกใกล้ชุมชน โดยความเชื่อว่าหากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรในวันเป็งปุ๊ดจะได้รับบุญมาก ร่ำรวย เป็นสิริมงคล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเดิมวัดอุปคุตจะเป็นวัดเพียงหนึ่งเดียวที่จัดประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ด โดยสืบสานประเพณีมาไม่ต่ำกว่า 250 ปี แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาทางวัดต่าง ๆ ในเชียงใหม่ก็เริ่มจัดประเพณีนี้ เพื่อช่วยกันสืบสานประเพณีเก่าแก่ของล้านนา และส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะวัดที่ตั้งอยู่บริเวณยอดดอยสูงจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นดอยสูง มีธรรมชาติที่สวยงามและบรรยากาศดีสไตล์ล้านนา อีกทั้งบางวัดยังได้เสริมการจุดผางประทีปและปล่อยโคมเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ผู้มาร่วมงานด้วย
ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน หรือ พิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด ภาพปี พ.ศ. 2558

วัดอุปคุต มีวัตถุมงคลขึ้นชื่อคือ พระบัวเข็ม ที่เป็นพระเครื่อง ทั้งนี้ พระอุปคุตกับพระบัวเข็มนั้นแตกต่างกันทั้งในทางประติมากรรมและประวัติความเป็นมา แต่ก็มักถูกสับสนและถือให้เป็นองค์เดียวกันในทางพระเครื่อง โดยพระบัวเข็มนั้นเป็นพระพุทธรูปมอญในตำนานของพม่า-มอญ-ล้านนา เข้ามาแพร่หลายในไทยช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยพระรามัญได้นำมาถวายพระวชิรญาณภิกขุ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) โดยเชื่อในพุทธคุณว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ ก่อให้เกิดลาภผล ความมั่งมี ขจัดภยันตราย และมีอิทธิฤทธิ์ในทางขอฝนอีกด้วย
พระอุปคุต ปางจกบาตร เนื้อว่านมหามงคล


วัดอุปคุต เวลาเปิด-ปิด และข้อมูลการติดต่อ
         
สำหรับใครที่อยากไปไหว้พระอุปคุต เพื่อขอพรให้เป็นมงคลกับชีวิต สามารถไปได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.30-18.00 น. หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก วัดอุปคุต โทรศัพท์ 08-5621-7160

วัดอุปคุต วัดดังในเมืองเชียงใหม่ กับตำนานความเชื่อเกี่ยวกับพระอุปคุตที่มีมายาวนาน เป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์มาก หากใครได้ใส่บาตรกับพระอุปคุตจะเป็นมงคลกับชีวิต มีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามา เหลือกินเหลือใช้ ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี สุขภาพแข็งแรง ความรักยืนยาว ทำให้วัดแห่งนี้มีผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใสแวะเวียนเข้ามากราบไหว้ขอพรพระอุปคุตอย่างไม่ขาดสาย ใครที่มีแพลนไปเที่ยวเชียงใหม่ ลองไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลสักครั้งนะ


 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทเว็บไซต์ฟรี