ผู้เขียน หัวข้อ: โรคมะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal cancer)  (อ่าน 18 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 367
    • ดูรายละเอียด
โรคมะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal cancer)
« เมื่อ: 01 กรกฎาคม 2024, 00:06:07 am »
โรคมะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal cancer)

มะเร็งกล่องเสียง พบได้ประมาณร้อยละ 3 ของมะเร็งทั้งหมด พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 10 เท่า และพบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 60-70 ปี
 

สาเหตุ

ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่

    การสูบบุหรี่ และจะพบมากขึ้นในผู้ที่ดื่มสุราร่วมด้วย
    การดื่มสุราจัด
    การติดเชื้อเอชพีวี (human papilloma virus/HPV)
    การสัมผัสสารใยหิน นิกเกิล ฝุ่นไม้ สี และสารเคมีบางชนิด (เช่น กรดกำมะถัน)
    การระคายเคืองเรื้อรังจากโรคกรดไหลย้อน
    ภาวะขาดสารอาหารซึ่งมักพบร่วมกับผู้ที่ดื่มสุราจัด
    การมีประวัติมะเร็งกล่องเสียงในครอบครัว


อาการ

มักมีอาการเสียงแหบเรื้อรังติดต่อกันนานเกิน 2-3 สัปดาห์ อาจมีอาการเจ็บคอเรื้อรัง ไอเรื้อรัง ปวดหู รู้สึกเจ็บเวลากลืนหรือกลืนลำบาก หรือสำลักร่วมด้วย

ต่อมาอาจพบมีเลือดออกปนกับเสมหะ ไอเป็นเลือด มีก้อนแข็งที่ข้างคอ น้ำหนักลด หายใจลำบากหรือหายใจมีเสียงดังฮี้ด (stridor)

ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก และเกิดภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะต่าง ๆ ที่มะเร็งแพร่กระจายไป เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ (ก้อนบวมโตที่ข้างคอ) ต่อมไทรอยด์ (คอโต คอพอก) หลอดอาหาร (กลืนลำบาก) หลอดลม (ไอ หายใจลำบาก) ปอด (เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด หายใจหอบ) เป็นต้น


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย


การตรวจบริเวณคอ อาจพบก้อนแข็งที่ข้างคอ (ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองโตจากมะเร็งลุกลามในระยะท้าย ๆ ของโรค) การใช้เครื่องมือส่องตรวจภายในลำคอพบเนื้องอกที่กล่องเสียง

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยใช้กล้องส่องตรวจกล่องเสียง (laryngoscopy) และตัดชิ้นเนื้อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ

หากพบว่าเป็นมะเร็ง ก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน-PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด


การรักษาโดยแพทย์

ถ้าเป็นระยะแรกเริ่มจะรักษาโดยการฉายรังสีเป็นหลัก หรือผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์ ทำให้รักษากล่องเสียงไว้ได้ และผู้ป่วยพูดได้เป็นปกติ แต่ถ้าเป็นระยะลุกลามก็จะรักษาด้วยการผ่าตัดกล่องเสียงร่วมกับการฉายรังสี บางรายอาจให้เคมีบำบัด และ/หรือการใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy drugs) ร่วมด้วย

ผลการรักษา ถ้าเป็นระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดและพูดได้เป็นปกติ (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ประมาณร้อยละ 70-90)

ในรายที่เป็นระยะลุกลามไม่มากและผ่าตัดกล่องเสียง ก็มักจะมีชีวิตยืนยาว แต่พูดไม่ได้ และต้องฝึกพูดด้วยการเปล่งเสียงผ่านหลอดอาหาร (esophageal speech) หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพูด (electrolarynx)

ในรายที่เป็นมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 30-45)


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการเสียงแหบนานเกิน 2 สัปดาห์, มีอาการเจ็บคอ ไอ ปวดหู หรือกลืนลำบากเรื้อรัง, มีเลือดออกปนกับเสมหะ, มีก้อนแข็งที่ข้างคอ เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบและงานจิตอาสาเท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวดประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์และทีมสุขภาพที่ดูแล

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก ซีด มีเลือดออก ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน กินไม่ได้ หายใจลำบาก เป็นต้น
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ)


การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกล่องเสียงด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา
    หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารใยหิน ฝุ่นไม้
    กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ และได้รับสารอาหารครบถ้วนและสมดุล
    ป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี โดยการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เสรีหรือไม่ปลอดภัย รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก และปรึกษาแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี (HPV vaccine)

ข้อแนะนำ

1. ผู้ที่มีอาการเสียงแหบเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ ผู้ป่วยมักจะหายขาดและมีอายุยืนยาว สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่จะพูดไม่ได้เพราะถูกตัดกล่องเสียง ผู้ป่วยสามารถฝึกพูดเพื่อสื่อสารกับผู้คนได้

2. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

3. หลังการรักษาจนทุเลาดีแล้ว บางรายอาจมีมะเร็งกำเริบได้ ควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทเว็บไซต์ฟรี